เปิด 5 กลุ่มแนวโน้ม “อาชีพทำเงิน” เมื่อ “METAVERSE” มาเปลี่ยนโลก

 

รศ.ดร.ลัดดาวัลย์ แก้วกิติพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโท สาขาวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (MSMIS) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแนวโน้มกลุ่มอาชีพที่จะเป็นที่ต้องการในยุค Metaverse และแนวโน้มกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัว

หากเราเปรียบโลกจักรวาลนฤมิต หรือ Metaverse กับโลกโซเชียล หรือ Social Media นั้นอาจสามารถเปรียบเทียบในเชิงวิวัฒนาการของการใช้เทคโนโลยีที่มีผลต่อสังคมทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่จะมาถึงในเวลาอันใกล้นี้

 

ถ้ามองย้อนไปเมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อโลกเข้าสู่ยุคแห่งข้อมูลและสารสนเทศในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ในยุคบุกเบิกในช่วงทศวรรษ 1990 – 2000 มีพัฒนาการการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น อีเมล world wide web และโซเชียลมีเดีย เพื่อติดต่อสื่อสารระหว่างคนในสังคมหรืออีกนัยยะหนึ่งคือโลกของเราได้มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยการสร้าง “โลกใบที่ 2” หรือโลกโซเชียลขึ้นมา หากแต่ว่า

 

การมีตัวตนของคนทั่วไปใน Social Media สามารถทำได้แค่เพียงรับรู้ มองเห็น ได้ยิน และโต้ตอบได้เท่านั้นแต่โลกจักรวาลนฤมิตนั้นจะถือเป็น “โลกใบที่ 3” ที่คนสามารถจะ สามารถ “มีตัวตน” ผ่านองค์ประกอบของ “ความเป็นจริง” มากยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยี 3D หรือ 4D มีความสมจริงมากขึ้น เมื่อโลกกำลังจะเปลี่ยน หรืออีกนัยยะหนึ่งกำลังจะมีโลกใบที่ 3 จุติขึ้นมาในทศวรรษที่กำลังจะถึงนี้ การเตรียมพร้อมในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการเตรียมในการทำงานเพื่อรองรับโลกจักรวาลนฤมิตที่เรายังมิอาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดโครงสร้างใหม่ ๆ ใดขึ้นมาบ้าง

 

รศ.ดร.ลัดดาวัลย์ แก้วกิติพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการปริญญาโท สาขาวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (MSMIS) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า แนวโน้มกลุ่มอาชีพที่จะเป็นที่ต้องการเมื่อเราเข้าสู่ Metaverse สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มอาชีพได้ 5 กลุ่ม คือ

 

1.) กลุ่มทางด้านเทคโนโลยี หรือ IT ที่จะเป็นคนกำหนดโครงสร้างของระบบที่ต้องใช้งานขั้นพื้นฐานทั่วไป (Infrastructure) ซึ่งหากเทียบกับโลกจริง (Physical) เราอาจจะนึกถึงกลุ่มอาชีพทางด้านวิศวกรรม การสร้างโครงสร้างอาคาร หรือที่อยู่อาศัยประเภทต่าง ๆ และถึงแม้ว่าเราจะเข้าไปใน Metaverse แล้ว กลุ่มอาชีพทางด้านวิศวกรรมยังคงมีบทบาทเป็นอยู่เช่นกัน แต่จะเป็นในสาย Computer Engineering ที่จะเป็นผู้ดูแลโครงข่ายระบบอินเทอร์เน็ต ระบบเซิร์ฟเวอร์ต่าง ๆ โดยทำงานร่วมกับสายเทคโนโลยี-ธุรกิจ ที่จะคอยสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งในโลกจริง (Physical) เราเรียกกลุ่มนี้ว่า ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ซึ่งคนกลุ่มนี้จะต้องมีความเข้าใจและสามารถจินตนาการถึงความต้องการในเชิงของ IT และธุรกิจ รวมถึงพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อสร้างธุรกิจในโลกเสมือน

 

2.) กลุ่มทางด้านการออกแบบ และดีไซน์เนอร์ ในรูปแบบของ 3D เปรียบได้กับสถาปนิกและนักออกแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในโลก Physical ที่จะต้องทำงานเชื่อมโยงกับสายเทคโนโลยี-ธุรกิจ คนกลุ่มนี้จะต้องมีความคิดสร้างสรรค์เพื่อจินตนาการถึงความต้องการของผู้บริโภค และอาจทำงานร่วมกับกลุ่มของผู้ประกอบการทางด้าน IT และกลุ่มของ Startup ที่จะเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับ Consumer Behavior เมื่อเข้าไปในโลกเสมือนแล้วลูกค้าต้องการอะไร คนที่สามารถดีไซน์ 3D ได้ ก็จะได้เปรียบ สามารถดีไซน์ของขึ้นมาขายได้

 

3.) กลุ่มทางด้าน Fintech Blockchain Cryptocurrency ซึ่งอยู่ในประเภทของ Infrastructure เช่นเดียวกับกลุ่มทางด้านเทคโนโลยี หรือ IT ซึ่งกลุ่มนี้จะเกี่ยวข้องกับด้านระบบการเงินใน Metaverse แต่จะสามารถ Cash out ออกมาเป็นเงินสดได้จริงในโลกจริงด้วย แน่นอนว่า Infrastructure ในเชิงเทคโนโลยีมีการดำเนินการอยู่แล้วในรูปแบบของสกุลเงินดิจิทัลต่าง ๆ เพียงแต่ว่าจะมี ‘ใคร’ ที่จะกระโดดเข้าไปเป็นตัวกลางในการรับชำระเงิน (Payment Solution)

 

4.) กลุ่มทางด้านกฎหมาย และกฎหมายดิจิทัล โดยนักกฎหมายต้องทำงานร่วมกับกลุ่มทางด้าน IT และการเงิน ต้องอัปเดตกฎหมายเพื่อให้เข้าใจโลก Metaverse พร้อมทั้งฝึก Skill ทางด้าน IT และมีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง Data Privacy และ Consumer Behavior ในโลกออนไลน์ ขณะเดียวกันต้องเข้าใจเรื่อง Fintech ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการเงินในโลกแบบใหม่ด้วย

 

5.) กลุ่มทางด้านจิตบำบัด และจิตแพทย์ เป็นการคาดการณ์ว่ากลุ่มอาชีพนี้สามารถรอที่จะรองรับได้เลยเมื่อมีการใช้งาน Metaverse จะมี Demand ของการต้องการคุยกับนักจิตบำบัด และจิตแพทย์ เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่าในโลกเสมือนจะทำให้คนที่รู้สึกไม่มีความสุข หรือแม้แต่คนทั่วไป เมื่อเข้าไปแล้วจะรู้สึกสนุก มีความสุขไปกับสิ่งที่อยู่ในนั้น จนไม่อยากออกมาในโลกจริง อาจทำให้คนไม่สามารถแยกแยะได้ ระหว่างความสัมพันธ์ที่เป็น Physical Relationship กับ Virtual Relationship

 

นอกจากกลุ่มอาชีพข้างต้นแล้ว ยังมีแนวโน้มของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวไปด้วย อย่างด้าน อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเมื่อเข้าไปอยู่ใน Metaverse แล้ว อสังหาริมทรัพย์อย่างบ้านหรือคอนโดที่ยังสร้างไม่เสร็จ ลูกค้าจะสามารถเข้าไปดูใน Metaverse ได้เลย ซึ่งจะเข้ามาแทนที่การดูโมเดล 3D หรือแม้แต่ Food Delivery ที่อาจจะต้องไปรับออเดอร์ใน Metaverse แต่ต้องมาส่งอาหารให้ผู้สั่งจริง ๆ ด้วย เพราะสิ่งหนึ่งที่ทำในโลกเสมืองไม่ได้คือการกิน เพราะกินแล้วไม่สามารถอิ่มได้จริง ผู้ประกอบการจะต้องตอบโจทย์ในเรื่อง Consumer Behavior พร้อมกับการทำงานร่วมกับกลุ่มทางด้าน IT ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อรองรับการสั่งของใน Metaverse

 

รวมถึง ทางการศึกษา ที่ในปัจจุบันเราเรียนออนไลน์ เราเห็นแต่หน้าผู้สอน เป็นภาพเคลื่อนไหว ได้ยินเสียง เห็นเพื่อน เห็นข้อความแชท กดไลก์ กดยกมือได้ แต่ถ้าเราเข้าไปในเรียนใน Metaverse เราสามารถเห็นหน้าตาของทุกคนได้เรียลขึ้น และลักษณะท่าทางของแต่ละคนผ่านตัว Avatar จะทำให้ความรู้สึกเรียลขึ้น สมจริงมากยิ่งขึ้นด้วย

 

สุดท้ายแล้วทุกสายอาชีพแล้ว ควรมีทักษะทางด้าน IT ทักษะความเข้าใจโลกเสมือน ทักษะในการเข้าใจ Data และ Infrastructure ในเชิง IT เบื้องต้น รวมถึงเข้าใจความเรื่องของ Cosumer Behavior มุมมองทางธุรกิจและสังคม ตลอดจนกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการนำ IT ไปใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดสอน “โครงการปริญญาโท สาขาวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (MSMIS)” ที่จะทำให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศ การบริหารจัดการ รวมถึงการนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อตอบโจทย์ยุคดิจิทัล